วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความจริงเรื่อง ร่างกายมนุษย์ ตามที่พระพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้แล้ว

 
องค์ประกอบของมนุษย์ ในพระสุตตันตปิฎกได้แยกแยะมนุษย์ออกเป็นขันธ์ ๕ คือ
๑) รูป คือ ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย อันเป็นส่วนประกอบฝ่ายรูป
ธรรมทั้งหมด
๒) เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
๓) สัญญา คือ ความกำหนดหมายรู้ เช่น แดง, เขียว, แหลม, หอม, เหม็น, อ่อน, แข็ง, งาม, น่าเกลียด เป็นต้น
๔) สังขาร คือ คุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ
๕) วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์

 
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย 6 ธาตุ ดังนี้
 ๑. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน คือ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง มี ๒๐ ส่วน อันได้แก่ คือ (๑)  ผม (๒)  ขน (๓) เล็บ (๔) ฟัน (๕) หนัง (๖) เนื้อ (๗) เอ็น (๘) กระดูก (๙) เยื่อในกระดูก (๑๐) ม้าม (๑๑) หัวใจ (๑๒) ตับ (๑๓) พังผืด (๑๔) ไต (๑๕) ปอด (๑๖)ไส้ใหญ่ (๑๗) ไส้น้อย (๑๘) อาหารใหม่ (๑๙) อาหารเก่า (๒๐) มันสมอง
 ๒. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ คือ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ดูดซึม  มี ๑๒ ส่วน คือ (๑) ดี (๒) เสมหะ (๓) หนอง (๔) เลือด (๕) เหงื่อ (๖) มันข้น (๗) น้ำตา (๘) มันเหลว (๙) น้ำลาย (๑๐) น้ำมูก (๑๑) ไขข้อ และ (๑๒) น้ำมูก
๓. เตโชธาตุ ธาตุไฟ คือ ธาตุที่มีลักษณะร้อน
เตโชธาตุมี ๔ ส่วน คือ
(๑) อุสฺมาเตโช คือ ธาตุไฟที่มีประจำอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่า ไออุ่นภายในร่างกาย
(๒) ปาจกเตโช คือ ธาตุไฟที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร
(๓) ชิรณเตโช คือ ธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เช่น ทำให้ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวย่น เป็นต้น
(๔) สนฺตาปนเตโช คือ ธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายกระวนกระวาย
๔. วาโยธาตุ ธาตุลม คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดไปมา ภาวะสั่นไหว พยุงไว้ ค้ำจุน
วาโยธาตุมี ๖ ส่วน คือ
(๑) อุทฺธงฺคมวาโย ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน เช่น การเรอ การหาว การไอ การจาม เป็นต้น
(๒) อโธคมวาโย ลมที่พัดลงสู่เบื้องต่ำ เช่น การผายลม การเบ่งลม เป็นต้น
(๓) กุจฺฉิสยวาโยหรือกุจฺฉิฏฺฐวาโย ลมที่อยู่ในช่องท้อง เช่น ทำให้ปวดท้อง เสียดท้อง เป็นต้น
(๔) โกฏฺฐาสยวาโย ลมที่อยู่ในลำไส้ เช่น ท้องลั่น ท้องร้อง เป็นต้น
(๕) องฺคมงฺคานุสาริวาโย ลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกาย ทำให้ร่างกายไหวได้
(๖) อสฺสาสปสฺสาสวาโย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
๕. อากาสธาตุ คือธาตุอากาศหรือช่องว่าง เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปากของอวัยวะต่าง ๆ
๖. วิญญาณธาตุ คือ ธาตุวิญญาณหรือธาตุรู้ หรือจิต
     ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา มนุษย์หรือตัวตนแท้ ๆ ไม่มี แต่มองมนุษย์ในฐานะเป็นเพียงการประชุมของส่วนประกอบต่าง ๆ เมื่อส่วนประกอบเหล่านั้นถูกแยกออกไป ความเป็นมนุษย์ก็จะไม่มี นอกจากนี้แล้ว พระพุทธศาสนายังมองกว้างออกไปถึงโลกที่มีอยู่ภายนอกตัวมนุษย์คือสิ่งทั้งหลายว่า ดำรงอยู่ในรูปของส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้าเช่นเดียวกับมนุษย์ ตัวอย่างที่ยกมาอุปมาเสมอ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาคือ รถ เรือน กำปั้น พิณ กองทัพ เมือง คนขายเนื้อ เป็นต้น เช่น เรือน ก็มาไม้ ปูน ตะปู เหล็ก หิน กระเบื้อง แรงงาน จึงประกอบเป็นบ้านเรือนได้ ร่างกายมนุษย์ก็เหมือนกัน

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น มหัศจรรย์จริงๆ นะครับ สมัยพุทธกาล วิทยาการทางการแพทย์ก็ยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ ที่มีกล้องจุลทรรศน์ส่องเห็นเซลล์มนุษย์ได้ สรุปแล้ว มนุษย์ก็คือ กาย+จิต หรือการรวมตัวกันของธาตุทั้ง 6 นั้นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น